วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

"พระพรหม"สุดยอดพระเครื่องของหลวงลุงดู่ พรหมปัญโญ


   พระพรหมพิมพ์ใหญ่ของหลวงลุงดู่ พรหมปัญโญ
องค์ที่หลวงลุงจารอักขระให้ด้านหลัง
   กิจวัตรประจำของหลวงลุงดู่ พรหมปัญโญ คือหลังจากท่านฉันภัตตาหารเช้าแล้วท่านจะเข้ากุฎีแล้วเลยออกไปด้านหลังกุฎีเพื่อทำกิจส่วนตัวของท่าน หลังจากเรียบร้อยแล้วท่านจะจัดการแกะพระออกจากพิมพ์(สถานที่นี้คือชานนอกกุฎีระหว่างห้องและห้องน้ำ)ใส่ไว้ในถาดกลมๆแบบโบราณที่นิยมเอาใส่ถ้วยชามอาหารถวายพระ มีตะไบยาวประมาณศอกอยู่สองอันเอาไว้แต่งพระ แกะพระออกจากพิมพ์เสร็จท่านจะล้างแม่พิมพ์ซึ่งทำด้วยยางพาราจนสะอาดดีแล้ว ก็ผสมปูนซีเมนต์ขาวกับผงพระ แล้ว  ใช้ช้อนตักหยอดลงในแม่พิมพ์จนเต็มทุกช่อง เสร็จจากนั้นท่านก็จะมาดูพระที่แกะออกจากแม่พิมพ์แล้ว องค์ที่มีเนื้อเกินก็ใช้ตะไบถูแต่งให้พอดี องค์ที่งามอยู่แล้วก็ไม่แต่ง ท่านจะคัดองค์ที่สมบูรณ์ งามๆ เอาแช่ในน้ำมนตร์ทำให้องค์พระเป็นสีขาว องค์ทั่วๆไปก็แช่ในน้ำน้ำมนตร์ปนกับน้ำชาที่เหลือจากการเลี้ยงแขกที่หน้ากุฎี องค์พระจะเป็นสีน้ำตาล  ผมเองเวลาเข้าปฏิบัติหรือ"ทำงาน"ก็มักมา"ทำงาน"ที่ตรงนี้  หลวงลุงจะให้ช่วย"เทพระ"ในโอกาสวันสำคัญเสมอ หรือไม่ผมก็ขอท่าน"เทพระ"ในวันเกิดตนเองบ้างซึ่งท่านก็เมตตาให้"เทพระ"ทุกครั้ง และที่สำคัญคือท่านต้องให้วิรัตน์ศีล และทำสมาธิให้ดีเสียก่อน  ผมช่วยท่านแต่งองค์พระเกือบทุกครั้งที่ไปค้างที่วัด เสร็จแล้วก็เลือกพระองค์สวยๆ(ส่วนใหญ่จะเป็นที่แช่ในน้ำมนตร์)ออกมาขอท่านให้ประสิทธิ์ประสาทให้โอกาสแรกที่ขอท่านถามว่า"เอ็งจะเอาไปทำไมหลายองค์" ผมตอบท่านว่าจะขอเก็บไว้แจกลูกศิษย์อื่นๆในโอกาสหน้า  ท่านบอก"เออได้แต่ พรหมข้าห้ามแจกใครนะ ข้าแจกเอง ข้าไม่อยู่แล้วค่อยให้คนอื่นได้"  ผมรับปากท่าน หลังจากนั้นผมก็นำพระพรหมที่เลือกแล้วมาขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทให้ทุกครั้งตอนก่อนกลับบ้าน  ลูกศิษย์รุ่นเก่าที่มีพระคุณยิ่งของผมก็เก็บพระพรหมแบบเดียวกับผมเหมือนกันแต่ท่านไม้ได้เลือกองค์สวยๆอย่างผม  นานพอควรในการนี้จนวันหนึ่งท่านเอ่ยปากว่า"เอ็งสองคนเขียนตัวพอเป็นหรือยัง" แล้วหัวเราะ  ผมกราบท่านแล้วเรียนท่านว่า "ครับ เขียนเป็นแล้วครับ"หลังจากนั้นก็ไม่ขอพรหมจากท่านอีกเลย  ผมเองได้รับพระพรหมองค์แรกจากท่านตั้งแต่วันแรกที่ไปกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครับ    หลังจากหลวงลุงละสังขาร หลวงพี่ลำใย สัญญโม ศิษย์รูปสำคัญของหลวงลุงกับลูกศิษย์รุ่นหลังผมเกือบ 20 คน ไปที่บ้านผม ผมถวายพรหมให้ท่านไปจำนวนหนึ่งและแจกทุกคนที่ไปด้วยคนละองค์
           ผมเล่าเรื่องย้อนหลังมาตั้งนาน มาเข้าเรื่อง"สุดยอดพระเครื่องของหลวงลุงดู่ พรหมปัญโญ"กันเสียที   วันหนึ่งผมไปวัดพร้อมกับพี่ช้าง ราชดำเนิน พี่แอ๊ด อุทัย  ได้นั่งสนทนากับท่าน พอดีได้คุยกันเรื่องพระสมเด็จ ซึ่งคุยกันว่าตอนนี้ราคาสูงมากถึงสิบล้านบาท  ท่านก็บอกว่าของข้าก็มีองค์หนึ่ง ผมรีบถามทันทีว่ายังอยู่ไหมครับท่านบอกว่าข้าบดทำเป็นผงผสมไปในพระแล้ว พวกเราได้แต่บอกว่าเสียดายครับ  ท่านยิ้มแล้วบอกว่า"พรหมของข้า ต่อไปสิบล้านมันก็หัวชนกันแย่งกัน พรหมของข้ากันปรมาณูได้"
             ในอดีตที่หลวงลุงยังไม่ละสังขารนั้น  พรหมหรือพระพรหม ของท่านเป็นที่ปรารถนาของลูกศิษย์อย่างยิ่ง เพราะท่านไม่ได้แจกให้กับทุกคน ท่านให้เฉพาะศิษย์ที่ท่านจะให้เท่านั้นและมีจำนวนไม่มากคนด้วยครับ ศิษย์ที่ได้จะได้ของเหมือนกันทุกคน หลายคนไปกราบท่านครั้งแรกก็ได้เลยบางคนทำดีปฏิบัติดีแล้วจึงได้แต่หลายคนไปเป็นสิบปีก็ไม่ได้  ใครได้พระพรหมจากท่านถือว่าสุดยอดครับ
             พระพรหมองค์ที่ท่านเห็นในหน้าเวปนี้เป็นองค์ที่ผมแต่งเองด้วยกระดาษทรายต่อหน้าท่านที่หน้ากุฎีผมทำพิมพ์ใหญ่หนึ่งองค์ เศียรพรหมพิมพ์กลางสององค์ เศียรพรหมพิมพ์เล็กสององค์ พอทำเสร็จท่านถามว่าเสร็จหรือยัง ผมตอบท่านว่าเสร็จแล้วครับ จากท่านั่งเอนใช้ศอกท้าวบนไม้ขอนขื่อโบสถ์ ท่านนั่งตรงหยิบเหล็กจารออกมาแล้วบอก"เอามา ข้าจะทำให้ เอาให้เต็มที่ไปเลย" แล้วท่านก็จารอักขระลงที่ด้านหลังองค์พระให้ผมทั้งห้าองค์แล้วประสิทธิ์ประสาทให้ ผมนำไปเลี่ยมพลาสติกติดตัวมาแต่นั้นพอตอนหลังจะเอาใส่ตลับพระตอนแกะพลาสติกออก(ทำเอง)ขอบด้านบนขององค์พระหลุดเลยเป็นอย่างที่เห็น โอกาสหน้าจะถ่ายภาพชัดๆให้ดูกันนะครับ
                                                                                                                                            
                                                                  เศียรพรหมพิมพ์ใหญ่
                                                                เศียรพรหมพิมพ์กลาง
เศียรพรหมพิมพ์เล็ก
พรหมใหญ่ที่หลวงลุงมอบให้เฉพาะลูกศิษย์

                                                   พรหมใหญ่ที่หลวงลุงมอบให้เฉพาะลูกศิษย์   
                                        
                                               
                                          พรหมใหญ่ชนิดไม่มีขอบ(สร้างก่อนพิมพ์ใหญ่มีขอบ)              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น